ภาคการเกษตรเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แม้ในปัจจุบัน สัดส่วน GDP ภาคการเกษตรจะลดลงเหลือประมาณ 8-10% ของ GDP ประเทศ แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน สร้างรายได้โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ ภาคการเกษตรไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก หากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และสอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก
ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์และปลอดสารพิษจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โดยทั่วไปสินค้าเกษตรอินทรีย์และปลอดสารพิษมีราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร เพราะขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง จึงทำให้ผู้ผลิต (Supply) ยังน้อย
การทำเกษตรอินทรีย์เน้นการใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ ลดการพึ่งพาสารเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว เกษตรอินทรีย์ช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดมลพิษ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรในระยะยาว ช่วย
สร้างมูลค่าเพิ่มการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น ข้าวอินทรีย์ ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เป็นต้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
การใช้สารเคมีในการเกษตรคือภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ และอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ และความจำเสื่อม เด็กมีความเสี่ยงต่อสารพิษตกค้างมากกว่าผู้ใหญ่ อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย และสมอง สารพิษตกค้างปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิต
ทุกภาคส่วนควรส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษให้แก่เกษตรกรหรือผู้ผลิตหรือนักธุรกิจภาคการเกษตร โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เกี่ยวกับหลักการ วิธีการ และเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการจัดการศัตรูพืชแบบปลอดสารพิษ
ส่งเสริมการรับรองมาตรฐาน สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เช่น มาตรฐาน IFOAM, USDA Organic, EU Organic เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
สร้างเครือข่าย ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมมือกันในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์
สนับสนุนด้านการตลาด ช่วยเหลือเกษตรกรในการเข้าถึงตลาด เช่น จัดหาช่องทางจำหน่าย ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรอินทรีย์
ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน การลดภาษี และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษ เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พร้อมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร จะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ให้ภาคการเกษตรไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
มนตรี บุญจรัส
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com