พอดีได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดจันทบุรี ไปเยี่ยม มิ่งรุจิราลัยฟาร์มแลน ของท่านอาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ซึ่งมีพื้นที่โดยประมาณ 400 ไร่ ที่นี่มีการรับเลี้ยงสัตว์จากการถูกเชือด ถูกฆ่าจากโรงฆ่าสัตว์ มีวัวควาย หมูป่า รวมกันหลายร้อยตัว ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องอาหารการกินที่จะดูแลให้อิ่มหนำสำราญได้ตลอดทั้งปี
จึงมีแนวคิดเรื่องการปลูกป่าเพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า เป็นแนวทางหนึ่งที่คิดว่าการช่วยฟื้นฟูธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่า เช่น ช้าง หมูป่า วัว และควาย การปลูกป่าที่ประกอบด้วยพืชหลายชนิด เช่น กล้วย ไม้ผล และไม้พี่เลี้ยงอย่างต้นมะเดื่อและต้นทองหลาง ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ยังสร้างแหล่งอาหาร น้ำ และความชุ่มชื้นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าอีกด้วย
การออกแบบการปลูกป่าเพื่อสัตว์ป่า
1. พืชตระกูลมะเดื่อ พบว่าในป่าแถว 3 จังหวัดภาคใต้ พบว่าแหล่งอาหารหลักของสัตว์ป่า มะเดื่อเป็นพืชที่มีผลให้สัตว์ป่ากินได้ตลอดทั้งปี เช่น ช้าง หมูป่า และนกหลายชนิด ผลของมะเดื่ออุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ อีกทั้งยังมีระบบรากลึกที่ช่วยอุ้มน้ำ รักษาความชุ่มชื้นในดิน เหมาะต่อการเป็นพืชพี่เลี้ยงที่ปลูกแซมกับไม้ผลอื่นๆ
2.ต้นทองหลาง ไม้พี่เลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโตของพืชอื่น ทองหลางมีคุณสมบัติพิเศษในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ด้วยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และใบของมันที่ร่วงหล่นลงมาสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แก่พืชชนิดอื่น รวมถึงช่วยสร้างร่มเงาเพื่อปกป้องพืชที่ยังเล็ก เช่น กล้วยและไม้ผลต่าง ๆ พบว่าทางภาคใต้เกษตรกรมักปลูกแซมกับสวนทุเรียน มังคุด ทำให้สวนมีความยั่งยืน ทนแล้ง ทนฝน ได้เป็นอย่างดี
3.กล้วย พืชที่ให้ทั้งอาหารและความชุ่มชื้น กล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และมีผลเป็นอาหารของสัตว์ป่า เช่น ช้างและหมูป่า นอกจากนี้ ลำต้นของกล้วยยังสามารถกักเก็บน้ำได้ดี ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ ซึ่งคิดว่ากล้วย นี้น่าจะเป็นพืชหลักๆ ในการปลูกเพื่อเป็นอาหารให้สัตว์ได้มีกินได้เกือบตลอดทั้งปี
4. ไม้ผล เสริมความหลากหลายของอาหาร ไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน มะขามป้อม ฝรั่ง ชมพุ่ ละมุด และลำไย เป็นแหล่งอาหารเพิ่มเติมที่ช่วยให้สัตว์ป่ามีอาหารหลากหลายตลอดทั้งปี อีกทั้งยังสร้างรายได้เสริมให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง
การสร้างระบบนิเวศที่สมดุล ระบบนิเวศป่าที่ออกแบบให้พืชและสัตว์พึ่งพาอาศัยกันเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ป่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน เช่น ใบของต้นทองหลางที่ร่วงหล่นช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและเป็นปุ๋ยให้กับพืชอื่น ผลมะเดื่อและผลไม้จากต้นอื่นๆ ถูกสัตว์ป่ากินและกระจายเมล็ดผ่านมูลสัตว์ ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ลำต้นและใบกล้วยช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ขนาดเล็ก
การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน
1. การปลูกป่าแบบผสมผสาน การปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันช่วยลดปัญหาการแย่งทรัพยากรในดินและเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศ
2. การใช้น้ำหมุนเวียนและการจัดการปุ๋ยธรรมชาติ การสร้างระบบเก็บกักน้ำ เช่น บ่อพักน้ำหรือการปลูกพืชที่ช่วยอุ้มน้ำ ช่วยลดความแห้งแล้งในพื้นที่ ส่วนใบไม้ที่ร่วงหล่นสามารถเปลี่ยนเป็นปุ๋ยได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี
3. การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า รวมถึงการใช้ป่าเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อบูรณาการไปยังสัตว์ป่าที่มักเป็นข่าวตลอดปีด้วย เช่น ช้าง หรือในพื้นที่เป้าหมาย คือ หมูป่า วัว และควาย ให้มีอาหารและน้ำเพียงพอตลอดปี สร้างระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น ชุมชนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า
การปลูกป่าโดยอิงหลักการพึ่งพาและอาศัยกันระหว่างพืชและสัตว์ เป็นการสร้างสมดุลที่ดีระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ พร้อมทั้งช่วยลดผลกระทบจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการลดลงของแหล่งอาหารในธรรมชาติ ถือเป็นแนวทางที่ส่งเสริมทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ท่านใดสนใจที่จะบริจาคหรือแนะนำแหล่งพันธุ์กล้วย ทองหลาง มะเดื่อ หรือพืชไม้ผลที่จำเป็น ติดต่อนะนำมาได้ที่ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย www.thaigreenagro.com หรือโทร.02 9861680 ถึง 2 นะครับ
ดร.มนตรี บุญจรัส
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย