ผมเกิดและเติบโตจากจังหวัดอ่างทอง ดินแดนที่ราบต่ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีของประเทศ แต่ปัญหาหมอกควันจากการเผาฟางหลังการเก็บเกี่ยวก็เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
การเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน เกษตรกรแกนนำที่มุ่งมั่นในการทำนาแบบไม่เผาฟางจึงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการเกษตรแบบเดิมสู่แนวทางที่ยั่งยืน
นอกจากจะมีบทบาทของการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดภัยไร้สารพิษมุ่งไปสู่เกษตรอินทรีย์แล้ว อีกบทบาทหนึในการที่อยากจะทำให้ชัดเจนมากขึ้น คือ การขับเคลื่อนการทำนาแบบไม่เผาฟางในจังหวัดอ่างทอง ซึ่งคิดว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ในการทำนาแบบไม่เผาฟาง แสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดการฟางข้าวอย่างถูกวิธี และผลลัพธ์ที่ดีที่ได้รับ เช่น การไถกลบฟาง การทำปุ๋ยหมักจากฟาง หรือการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
การเผาฟางในประเทศไทยถือว่าผิดกฎหมายในบางกรณี เนื่องจากการเผาฟางหรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของ ปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และล่าสุดเมื่อครั้งไปบรรยายเรื่องการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดอ่างทองรวมถึงต้นทุนการผลิตและการจัดการกระแสเงินสด ได้มีโอกาสทราบข้อมูลว่า มีการบังคับใช้กฎหมายจากเจ้าหน้าที่ต่อเกษตรกรที่เผาฟาง ซึ่งมีทั้งโทษจำและปรับ จึงยิ่งทำให้รู้สึกหดหู่ อยากจะส่งเสริมชี้นำว่าการทำนาแบบไม่เผาฟางก็สามารถกระทำได้ไม่ยากเกินไป
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผาฟาง มีพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การเผาฟางหรือการเผาในที่โล่งที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นหรือควันไฟที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ถือเป็น “เหตุรำคาญ” ซึ่งสามารถถูกดำเนินการตามกฎหมายได้
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 การเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีมาตรการควบคุมมลพิษ คำสั่งหรือข้อกำหนดเฉพาะพื้นที่บางจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มักเผชิญปัญหาหมอกควัน อาจมีคำสั่งห้ามการเผาในช่วงเวลาที่กำหนด (เช่น ช่วงฤดูแล้ง) หากฝ่าฝืน อาจถูกลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
บทลงโทษการฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าว อาจมีโทษปรับหรือจำคุก ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น และการบังคับใช้ในแต่ละพื้นที่
ผลดีของการไม่เผาฟาง คือ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ช่วยลดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ฟางข้าวที่ย่อยสลายจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช การไม่เผาฟางยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเผาฟาง และยังสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้ด้วย
การทำนาแบบไม่เผาฟางช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว ดินที่มีคุณภาพดี จะช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
ผลเสียของการไม่เผาฟาง เกษตรกรบางรายอาอาจาจมองในแง่ของการมีปัญหาเรื่องโรค และแมลง หากไม่จัดการฟางข้าวอย่างถูกวิธีอาจต้องใช้เวลา และแรงงาน ในการจัดการฟางข้าว มากกว่าการเผา และอาจมีค่าใช้จ่าย ในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ หรือจุลินทรีย์ สำหรับย่อยสลายฟางข้าว
อย่างไรก็ตาม ผลเสียของการไม่เผาฟาง สามารถแก้ไขได้ด้วยการเรียนรู้ และปฏิบัติอย่างถูกวิธี ซึ่งเกษตรกรแกนนำ จะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนเกษตรกรรายอื่นๆ ให้สามารถทำนาแบบไม่เผาฟางได้อย่างประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตร และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอ่างทองต่อไป
จึงคิดว่าการเริ่มต้นจากตนเองโดยการปฏิบัติทำนาแบบไม่เผาฟางเอง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ความรู้ คำแนะนำ และถ่ายทอดประสบการณ์ แก่เกษตรกรรายอื่นๆ เกี่ยวกับเทคนิคการทำนาแบบไม่เผาฟาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นรอบการผลิต
จะพยายามทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันพัฒนาการทำนาแบบไม่เผาฟางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นตัวแทนในการประสานงาน กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุน ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุน ในการทำนาแบบไม่เผาฟาง เป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ สร้างจิตสำนึก และเผยแพร่ประโยชน์ของการทำนาแบบไม่เผาฟาง ให้กับชุมชน และสังคมต่อไปตราบเท่าที่จะทำได้
ดร.มนตรี บุญจรัส
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย