0

Your Cart

No products in the cart.
THAIGREENAGRO | ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
[agrikon_wc_ajax_search]

สารชีวภัณฑ์ไทย: ทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรไทย ขยายเชื้อได้ ใช้ง่ายประสิทธิภาพสูง

ปัจจุบันเกษตรกรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และผลกระทบจากการใช้สารเคมีในระยะยาวต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การนำ สารชีวภัณฑ์ มาใช้ในภาคเกษตรกรรมจึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่

สารชีวภัณฑ์คืออะไร? สารชีวภัณฑ์ (Biological Products) คือผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แบคทีเรีย รา และไวรัส ที่มีประโยชน์ต่อพืชและดิน ซึ่งใช้ในการควบคุมโรคพืช ศัตรูพืช หรือช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น บิวเวอร์เรีย ที่ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช หรือ ไตรโคเดอร์มา ที่ช่วยควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช

ทางเลือกในการใช้สารชีวภัณฑ์ ไม่จำเป็นต้องใช้แบบสำเร็จรูปเสมอไป แม้ว่าสารชีวภัณฑ์สำเร็จรูปที่จำหน่ายในตลาดจะสะดวกและพร้อมใช้งาน แต่ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจไม่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อยหรือผู้ที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต วิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้คือ การขยายเชื้อเอง

การขยายเชื้อสารชีวภัณฑ์ เกษตรกรสามารถซื้อหัวเชื้อหรือแม่พันธุ์ในปริมาณน้อยและนำมาขยายในพื้นที่ของตนเอง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ถ้าจะหมักจุลินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์ในกลุ่มเชื้อรา ก็อาจจะใช้หัวเชื้อ 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 10 กิโลกรัม และคลุกผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์อีก 40 กิโลกรัม พรมน้ำพอชื้นหมักทิ้งไว้ 7-15 วัน ก็สามารถนำไปโรยใต้ทรงพุ่มโคนต้นกับพืชไร่ไม้ผลได้เกือบทุกชนิด

อีกวิธีหนึ่งคือนำแป้งข้าวโพดครึ่งกิโลกรัมต้มในน้ำเดือด 20 ลิตร แล้วค่อยโรยแป้งลงไปทีละน้อยเพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน เมื่อกวนจนเหมือนน้ำราดหน้าแล้ว เทใส่ถาด คลุมด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้พออุ่น โรยหัวเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มเชื้อราอย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 100 กรัม ให้ทั่ว แล้วบ่มไว้ประมาณ 7-10 วัน กวนให้เข้ากันนำไปผสมน้ำ 100 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ประหยัดได้สูงสุดถึง 4,000 ลิตร

ส่วนชีวภัณฑ์ในกลุ่มแบคทีเรีย อย่างเช่น บีที , บาซิลลัส ซับธิลิส  ให้นำหัวเชื้อเพียง 5 กรัมหมักกับน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล หรือ นมยูเฮชที นมถั่วเหลือง 1 กล่อง (200 ซี.ซี.) หมักทิ้งไว้  24-48 ชั่วโมง นำไปผสมน้ำ 20 ลิตร (1 ปิ๊ป) ฉีดพ่อให้เปียกชุ่มโชกเหมือนฝนตก ดีที่สุดคือในช่วงเย็นแดดอ่อนๆ

การขยายเชื้อไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังสามารถปรับปริมาณการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละฤดูปลูก และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานในแปลงเกษตร

ข้อดีของการใช้สารชีวภัณฑ์ขยายเอง

 1. ลดต้นทุนการผลิต: การขยายเชื้อเองมีต้นทุนต่ำกว่าการซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

 2. ลดการใช้สารเคมี: ลดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

 3. เพิ่มคุณภาพผลผลิต: พืชแข็งแรงและมีความต้านทานโรคดีกว่า

 4. สนับสนุนเกษตรยั่งยืน: สารชีวภัณฑ์ช่วยปรับปรุงคุณภาพดินในระยะยาว

ตัวอย่างสารชีวภัณฑ์ยอดนิยมในไทย

 1. ไตรโคเดอร์มา  ใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา  เช่น  โรคโคนเน่า  โรครากเน่า  โดยเชื้อราจะเข้าไปแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยของเชื้อราโรคพืช

 2. บาซิลลัส ซับทิลิส: ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและควบคุมเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช

 3. บิวเวอร์เรีย พาซิลโลมัยซีท  และ เมทาไรเซียม ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด  เช่น  เพลี้ยอ่อน  หนอนใยผัก  โดยเชื้อราจะเข้าทำลายแมลง  ทำให้แมลงตายในที่สุด

 4. บีที (Bacillus thuringiensis):  เป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษ  ใช้ควบคุมหนอนผีเสื้อ  โดยหนอนที่กินแบคทีเรียเข้าไปจะตาย

 5. ไรโซเบียม: ช่วยตรึงไนโตรเจนในดินสำหรับพืชตระกูลถั่ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสารชีวภัณฑ์ มีความปลอดภัยสูง แต่ก็ยังต้องมีข้อควรระวังในการขยายเชื้อสารชีวภัณฑ์ คือ ควรปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคอื่น เลือกวัตถุดิบที่สะอาดและปราศจากสารเคมีตกค้าง เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพ

สารชีวภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเกษตรกรไทยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนในการเกษตร ด้วยการขยายเชื้อเอง เกษตรกรสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและผลิตสารชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการในพื้นที่ของตนเอง อีกทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมสุขภาพของดินและผลผลิตในระยะยาว การใช้สารชีวภัณฑ์จึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นแนวทางที่ตอบโจทย์อนาคตของเกษตรไทยอย่างแท้จริง

ดร.มนตรี บุญจรัส

ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด

ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย

×