ช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลที่สำคัญสำหรับเกษตรกร อากาศที่เย็นลง ความชื้นสูง และแสงแดดลดลง ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโต การติดดอกออกผล และการระบาดของโรคแมลงในพืช เกษตรกรจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้พืชผลเติบโตแข็งแรง และได้ผลผลิตที่ดี
การเจริญเติบโต ช่วงอากาศเย็น และแสงแดดน้อยลง อาจทำให้พืชเจริญเติบโตช้าลง บางชนิดอาจหยุดการเจริญเติบโต อุณหภูมิ และความชื้น มีผลต่อการผสมเกสร และการติดผล อาจทำให้ผลผลิตน้อยลง หรือผลผลิตผิดปกติ พืชที่อ่อนแอ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และแมลงศัตรูพืชได้ง่าย
โรคพืชที่มักพบในช่วงปลายฝนต้นหนาว เช่น โรคราน้ำค้าง โรคใบจุด โรคเหี่ยว ส่วนแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ย หนอน ไรแดง สิ่งที่อยากให้ท่านผู้อ่านหรือเกษตรกรมีทางเลือกที่จะใช้ คือการดูแลป้องกันแบบปลอดสารพิษ และชีววิธี
การดูแลสภาพแวดล้อม จัดการความชื้น ระบายน้ำ กำจัดวัชพืช เพื่อลดแหล่งเพาะเชื้อโรค
การใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Tricoderma ssp.) บิวเวอเรีย (Beaveria ssp) แบคทีเรียบีทีหรือบาซิลลัส ธูริงจิเอนซิส (Bacillus Thuringiensis ssp) เพื่อควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืช หรือพืชสมุนไพรเช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ใช้ไล่แมลง และป้องกันโรค หรือสารสกัดชีวภาพ เช่น น้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมนไข่ ใช้บำรุงพืช และเสริมสร้างความแข็งแรง
การดูแลการติดดอกออกผล อากาศที่หนาวเย็น มีผลต่อการการผสมเกสร หากแมลงผสมเกสรน้อย อาจต้องช่วยผสมเกสรด้วยมือ ตัดแต่งกิ่ง ใบ ที่เป็นโรค หรือไม่จำเป็น เพื่อให้พืชได้รับแสงแดด และอากาศถ่ายเทสะดวก ให้น้ำอย่างเหมาะสม อย่าให้แฉะเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่า และเกิดโรคได้ง่าย เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ เพื่อบำรุงพืชและดินให้มีโครงสร้างดินที่แข็งแรงเหมาะสมและควรใช้สารปรับปรุงดินกลุ่มหินแร่ภูเขาไฟเพื่อให้มีซิลิก้า (Sio2) ที่สามารถละลายน้ำได้เป็น ซิลิคอน (Si) ช่วยสร้างความแข็งแรง เสริมภูมิคุ้มกันให้แก่เซลล์พืช
ธาตุอาหารที่สำคัญและเกษตรกรควรใส่ใจ เช่น
โพแทสเซียม (K): ช่วยให้พืชแข็งแรง ทนทานต่อสภาวะเครียดต่างๆ รวมถึงอากาศหนาว
เพิ่มความเข้มข้นของน้ำเลี้ยงในเซลล์พืช ป้องกันการเสียหายของเซลล์จากน้ำแข็ง
ช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างอาหาร และพลังงานสำรองให้พืช
แหล่งที่มา: ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์, ปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต
แคลเซียม (Ca): เสริมสร้างผนังเซลล์ให้แข็งแรง ช่วยป้องกันการแตกของเซลล์จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ช่วยในการดูดซึมธาตุอาหารอื่นๆ
ซิลิคอน (Si): แม้ไม่ใช่ธาตุอาหารหลัก แต่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผนังเซลล์
ช่วยให้พืชทนทานต่อสภาวะเครียดจากอากาศหนาว โรค และแมลง
สังกะสี (Zn): ช่วยในการสร้างฮอร์โมนพืช เสริมสร้างกระบวนการสังเคราะห์แสง ช่วยให้พืชทนทานต่อสภาวะอากาศหนาว
โบรอน (B): ช่วยในการเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืชสำคัญต่อการผสมเกสร ติดดอกออกผล ช่วยให้พืชทนทานต่อสภาวะเครียด
การดูแลอื่นๆ ควรใช้อินทรีย์วัตถุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้น และอุณหภูมิในดิน ให้น้ำอย่างเหมาะสม อย่าให้มากเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่า กำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องกำจัดให้โล่งเตียนเกินไปเพื่อลดการแย่งอาหาร และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
การดูแลป้องกันและเสริมความแข็งแกร่งให้กับพืชอย่างเข้าถึงเข้าใจและถูกวิธี จะช่วยให้พืชผ่านพ้นช่วงปลายฝนต้นหนาวไปได้อย่างราบรื่น และให้ผลผลิตที่ดี เกษตรกรควรหมั่นสังเกต และดูแลพืชอย่างใกล้ชิด เลือกใช้วิธีป้องกัน และแก้ไขโรคแมลงแบบปลอดสารพิษ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ปลอดภัย และยั่งยืน
มนตรี บุญจรัส
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย