ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ผลผลิตรวมปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อย่างมีนัยยะสำคัญ
พื้นที่ปลูกทุเรียนกระจายไปเกือบทั่วประเทศแม้แต่ภาคกลางที่เป็นแหล่งปลูกข้าวอย่างอ่างทอง สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ฯลฯ มีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตภาคตะวันออก เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เช่น การใช้ระบบน้ำหยด การปลูกในโรงเรือน เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ การค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญในการจำหน่ายทุเรียน
การควบคุมคุณภาพยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่อ่อนไหวง่าย แล้งมาก แฉะมากก็ตาย ผลผลิตที่ออกมาก็เน่าเสียง่าย และมีเกษตรกรบางรายเร่งตัดผลผลิตก่อนกำหนด โรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรครากเน่าโคนเน่า เพลี้ยแป้ง ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง
การขนส่งทุเรียนไปยังต่างประเทศ ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น เพื่อรักษาคุณภาพ
การแข่งขัน: ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม
ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนกว่า 80% ของการส่งออกทุเรียนไทย มูลค่าการส่งออกปี 2566 คาดว่าจะสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ราคาทุเรียนในปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาทุเรียนหมอนทองเกรดส่งออกอยู่ที่ประมาณ 150-200 บาทต่อกิโลกรัม
ซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับทุเรียนไทย หลังจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียในปี 2565 ทำให้เกิดโอกาสทางการค้ามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าเกษตร
ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง ประชากรมีกำลังซื้อสูง และนิยมบริโภคผลไม้ ซึ่งเราคงจะต้องรณรงค์สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริโภค สร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ให้ประชาชนของซาอุฯรู้จักทุเรียนเหมือนชาวจีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เมืองร้อนรสชาติหวาน อาจเป็นที่ชื่นชอบและเป็นทางเลือกใหม่ เพราะโดยปรกติประเทศเขามีผลไม้ให้บริโภคตามฤดูกาลอยู่แล้ว ทุเรียนไทยซึ่งออกผลผลิตในช่วงเวลาที่แตกต่าง อาจเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตได้ การใช้อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย การรีวิวทุเรียน และ "Fruit King" ในโซเชียลมีเดีย มีส่วนกระตุ้นให้ชาวซาอุฯ รู้จักทุเรียนไทยมากขึ้น
โอกาสของทุเรียนไทยในซาอุดิอาระเบีย มองว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต นำไปสู่ความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงการค้าและการลงทุน เอื้อต่อการขยายตลาดทุเรียนไทย สร้างโอกาสทางการตลาดที่หลากหลาย เช่น การส่งออกผ่านผู้นำเข้า การจัดงานแสดงสินค้า การขายออนไลน์ รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการส่งออกทุเรียนไปยังซาอุดิอาระเบีย เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้า การเจรจาข้อตกลงทางการค้า
ในช่วงที่ผ่านมาปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียนไปซาอุดิอาระเบีย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามีการจัดงาน "Thailand Festival" ในซาอุดิอาระเบีย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทย รวมถึงทุเรียน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก
ความท้าทายคือประเทศซาอุดิอาระเบียมีมาตรฐานและกฎระเบียบที่เข้มงวด เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น มาตรฐานฮาลาล การตรวจสอบสารตกค้าง เราต้องแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม การขนส่งทุเรียนไปยังซาอุดิอาระเบียอาจมีต้นทุนสูง และใช้ระยะเวลานาน
ประเทศไทยเราควรศึกษาความต้องการของตลาด มาตรฐาน และกฎระเบียบ ก่อนเข้าสู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย สร้างความร่วมมือกับผู้นำเข้า และพันธมิตรทางธุรกิจในซาอุดิอาระเบีย รักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการส่งเสริมทุเรียนปลอดสารพิษ (GAP) ทุเรียนออร์แกนิค เพื่อสร้างจุดเด่น สร้างความแตกต่าง มุ่งประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายทุเรียนไทยในซาอุดิอาระเบีย พัฒนาโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง
ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศเป็นจำนวนมาก แม้จะมีปัญหาและความท้าทาย แต่ด้วยความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่เป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่มีศักยภาพสูง การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต เปิดโอกาสให้ไทยขยายตลาด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อม รับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อคว้าโอกาสในตลาดแห่งใหม่
ดร.มนตรี บุญจรัส
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษเเห่งประเทศไทย
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด www.thaigreenagro.com