เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม โครงการ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรมเพื่อการฟื้นฟูและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (ADB TA-9993) ซึ่งได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อระดมความคิดเห็น ประเด็น “การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเกษตรกรรมอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ (CSA) ในพื้นที่สูง ความท้าทายและโอกาส" โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนญี่ปุ่น (JFPR) และดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย (MOAC) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (OAE)เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก จัดประชุม ณ สำนักงานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำประเทศไทย ณ กรุงเทพฯ
วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครการดังนี้
• ลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สูง
• เพิ่มความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและระบบนิเวศในพื้นที่สูง
• สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารและการจ้างงานในชนบท
เป้าหมาย:
• พัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่สูงให้มีความสามารถแข่งขัน
• สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำ CSA มาใช้
ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ทดลองในจังหวัดน่าน ก็จะมี การจัดการน้ำอัจฉริยะ (Keyline Technology, Solar Irrigation) ,การจัดการดินเพื่อกักเก็บคาร์บอน,เศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy) , ระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ในการเสวนามีการพูดถึงการใช้ ไบโอชาร์ นำมาปรับปรุงคุณภาพดิน ให้มีโครงสร้างที่แข็งแรง กักเก็บความชุ่มชื้น และมีการเปรียบเทียบระหว่าง ไบโอชาร์กับซีโอไลท์หรือหินแร่ภูเขาไฟ วันนี้จึงอยากจะนำมาขยายให้ท่านผู้อ่านได้รับข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำไปประยุกต์ในงานเกษตรกรรม
ไบโอชาร์ (Biochar) และ ซีโอไลท์ (Zeolite) ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการอาจจะมองดูว่าคล้าย ๆ กัน ตรงที่ช่วยกักเก็บดูดซับความชุ่มชื้น หรือบางคนอาจจะคิดเลยเถิดว่าสามารถนำมาทดแทนซีโอไลท์หรือหินแร่ภูเขาไฟได้ ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง บนพื้นที่ราบสูง ชายเขา ความลาดเอียงทำให้อินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยแร่ธาตุสารอาหารและเนื้อดินถูกพัดพาชะล้างให้สูญเสียโดยง่าย การมีตัวช่วยทำให้โครงสร้างดินแข็งแรงเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ไบโอชาร์ (Biochar) คุณสมบัติเด่น คือ กักเก็บคาร์บอน มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนในดิน ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มอินทรียวัตถุและสารอาหารในดิน เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ โครงสร้างที่มีรูพรุนช่วยกักเก็บน้ำและสารอาหารในดินได้ดี ช่วยให้จุลินทรีย์ในดินเติบโตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหมาะสำหรับ ดินที่มีความเสื่อมโทรมและขาดอินทรียวัตถุ เกษตรกรรมอินทรีย์หรือพื้นที่ที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัด ผลลัพธ์อาจใช้เวลานานกว่าจะแสดงผลชัดเจน (เป็นการปรับปรุงระยะยาว) ต้องใช้ปริมาณมากเพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในพื้นที่ขนาดใหญ่
ซีโอไลท์หรือหินแร่ภูเขาไฟ (Zeolite) คุณสมบัติเด่น โครงสร้างคล้ายรังผึ้ง มีความสามารถดูดซับและปลดปล่อยสารอาหาร เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุรอง ธาตุเสริม และซิลิก้าต่าง ๆ ออกมาเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างจุลินทรีย์และพืช ฯลฯ ซีโอไลทืหรือหินแร่ภูเขาไฟ ช่วยควบคุมความเป็นกรด-ด่าง (pH) ช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในดิน ลดการชะล้างปุ๋ย รักษาปุ๋ยในดินได้นานขึ้น ลดการสูญเสียสารอาหารจากน้ำฝนหรือน้ำชลประทาน เพิ่มการแลกเปลี่ยนไอออน (CEC): ช่วยเพิ่มความสามารถในการแลกเปลี่ยนไอออนในดิน
เหมาะสำหรับดินที่มีความเค็มหรือเป็นกรกรดรดเพราะช่วยบาลานซ์ปรับสมดุลไม่ให้ดินเป็นกรดหรือด่างอย่างรวดเร็วเกินไป พื้นที่ที่ต้องการลดการสูญเสียปุ๋ยหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย เหมาะสำหรับดินทรายดินร่วนหรือแทบจะเรียกได้ว่า เราสามารถใช้ซีโอไลท์หรือหินแร่ภูเขาไฟเพื่อปรับปรุงสภาพดินได้เกือบทุกชนิด แม้กระทั่งดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะทำงานสอดคล้องกันช่วยทำให้ดินที่งามปุ๋ยปลดปล่อยปุ๋ยทีละน้อยๆ หรือเรียกว่าปุ๋ยละลายช้า ควบคุมการดูดกินไนโตรเจนทำให้พืชไม่เฝือใบงามใบ และเสริมแร่ธาตุซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ ทำให้เซลล์พืชแข็งแกร่งต้านทานต่อโรค แมลง เพลี้ย หนอน รา ไร ได้ดีเยี่ยม ข้อข้อจำกัดก็มีอยู่บ้าง เช่น ไม่เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน (เป็นสารอนินทรีย์) อาจมีราคาสูงเมื่อใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ
สรุปไบโอชาร์หรือซีโอไลท์ ดีกว่ากัน? หากต้องการ ปรับปรุงดินในระยะยาว โดยเฉพาะดินที่เสื่อมโทรมมากหรือขาดอินทรียวัตถุ ควรเลือก ไบโอชาร์ หากต้องการ ผลลัพธ์ในระยะสั้น เช่น ลดการสูญเสียปุ๋ยหรือแก้ปัญหาความเค็มของดิน ควรเลือก ซีโอไลท์
ทั้งนี้ การใช้ร่วมกันอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในหลายกรณี โดยใช้ ไบโอชาร์ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ และ ซีโอไลท์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยและการกักเก็บน้ำในระยะสั้น การเลือกใช้งานจะขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน ความต้องการเฉพาะ และเป้าหมายการปรับปรุงดินของผู้ใช้งาน
ดร.มนตรี บุญจรัส
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย