การปรับปรุงดินเพื่อการเพาะปลูกเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรับปรุงดินล้วนมีบทบาทเฉพาะของตน “โดโลไมท์” และ “ฟอสเฟต” เป็นสองวัสดุที่มีคุณสมบัติเด่นในการบำรุงดิน แต่การใช้งานและผลลัพธ์ที่ได้มีความเหมือนและแตกต่างกัน ดังนี้
โดโลไมท์ (Dolomite) เป็นแร่ที่ประกอบด้วยแคลเซียมแมกนีเซียมคาร์บอเนต (CaMg(CO₃)₂) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงดินที่มีความเป็นกรดสูง (pH ต่ำ) ช่วยปรับค่าความเป็นกรด ของดิน เพิ่มค่า pH ของดิน เหมาะกับดินที่เป็นกรดจัด ซึ่งมักพบในพื้นที่ดินเหนียว มีสีสนิม ฝนตกชุก หน้าที่อีกอย่างคือช่วยเพิ่มธาตุอาหารรองอย่างแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช แคลเซียม ช่วยสร้างผนังเซลล์ ป้องกันผลร่วง แมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์แสง ทั้งสองธาตุจึงทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดความแน่นของดิน ทำให้ดินมีการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศที่ดีขึ้น โดโลไมท์จึงช่วยทำให้ดินที่มีความเป็นกรดที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
ฟอสเฟต (Phosphate) องค์ประกอบ คือ สารประกอบฟอสฟอรัส เช่น ร็อคฟอสเฟต หรือ 0-3-0 มีหน้าที่หลักจากคุณสมบัติที่เป็นด่างเหมือนกับปูนโดโลไมท์ คือตัวแคลเซียมช่วยในการแก้ดินกรดดินเปรี้ยว เสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรค และฟอสฟอรัส ที่เป็นธาตุอาหารหลักที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทุกระยะของพืช ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารหลักที่ช่วยเสริมสร้างราก การออกดอก และการสร้างผลผลิตของพืช กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชในระยะแรก ฟอสฟอรัสมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของราก ทำให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เสริมสร้างพลังงานในพืชเนื่องด้วยฟอสเฟตเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตพลังงานของพืช (ATP) ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการเมแทบอลิซึม ช่วยสร้างราก ลำต้น ดอก ผล กระตุ้นการออกดอกออกผล ยิ่งฟอสฟอรัสสูง ดอกดก ผลใหญ่
ความเหมือนระหว่างโดโลไมท์และฟอสเฟต คือกล่มวัสดุปูนที่มีความเป็นด่าง ปูนทั้งสองชนิดนี้ทำหน้าที่ปรับปรุงสภาพดินกรดดินเปรี้ยวให้มีความเหมาะสม
ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ทั้งโดโลไมท์และฟอสเฟตต่างมีบทบาทในการช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โดยการปรับปรุงคุณภาพของดินและเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็น ปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม ช่วยฟื้นฟูดินที่ขาดสมดุลธาตุอาหาร โดยเพิ่มธาตุอาหารสำคัญที่ดินขาดแคลนโดยเฉพาะ แคลเซียม แมกนีเซียมและฟอสฟอรัส
ส่วนเรื่องของความแตกต่างระหว่างโดโลไมท์และฟอสเฟต คือการใช้ โดโลไมท์ เพื่อเพิ่มสารอาหารแคลเซียม-แมกนีเซียมให้แก่ดินหรือพืชที่ขาดแคลนธาตุอาหารสองตัวนี้ซึ่งสังเกตุได้จากการนำใบพืชหรือดินไปตรวจ และใช้ปูนฟอสเฟต เพื่อเพิ่มธาตุฟอสฟอรัส เร่งรากเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต เพิ่มพัฒนาการของพืช อีกเหตุที่ใช้ปูนฟอสเฟตเพื่อเร่งราก รองก้นหลุมคือ อาจจะมีราคาที่สูงมากกว่าโดโลไมท์ จึงมักนิยมใส่ปูนฟอสเฟตเพื่อรองก้นหลุมก่อนปลูกซึ่งทำกันมาแต่ครั้งบรรพบุรษนั่นเอง
แม้ว่าโดโลไมท์และฟอสเฟตจะมีบทบาทในการปรับปรุงดินเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก แต่ทั้งสองวัสดุมีหน้าที่เฉพาะในการแก้ไขปัญหาดินที่แตกต่างกัน การเลือกใช้วัสดุใดขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของดินและความต้องการของพืช เพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตสูงสุด การใช้โดโลไมท์จะเหมาะกับการปรับค่ากรด-ด่างและเพิ่มแคลเซียม-แมกนีเซียม ในขณะที่ฟอสเฟตเหมาะสำหรับการเพิ่มธาตุฟอสฟอรัสเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชในระยะยาว
ดร.มนตรี บุญจรัส
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด
ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษแห่งประเทศไทย